62 ฝน ของคนปิ้งไข่ - 62 ฝน ของคนปิ้งไข่ นิยาย 62 ฝน ของคนปิ้งไข่ : Dek-D.com - Writer

    62 ฝน ของคนปิ้งไข่

    ทุกคนรู้จักไข่ปิ้ง แต่จะมีสักกี่คนที่รู้จักคนปิ้งไข่

    ผู้เข้าชมรวม

    817

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    0

    ผู้เข้าชมรวม


    817

    ความคิดเห็น


    2

    คนติดตาม


    0
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  13 พ.ค. 52 / 08:09 น.


    ข้อมูลเบื้องต้น

    เรื่องสั้นสารคดีเชิงบุคคลค่ะ
    ตอนนั้นไปสัมภาษณ์ลุงขายไข่ปิ้ง แถวๆสยาม
    คุณลุงใจดีมากค่ะ อัธยาศัยดีมากๆ
    แต่ตอนนี้ไม่รู้ว่าคุณลุงหายไปไหน
    ไม่เห็นมาขายเลย

    เขียนตอนร่วมโครงการ TK young writer academy ค่ะ
    แต่ว่าส่งงานไม่ทัน จำวันส่งผิด เลยมีค่าเท่ากับไม่ส่ง
    เลยลองเอามาให้อ่านกันดูค่ะ

    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ
      62 ฝน ของคนปิ้งไข่


            ฟุตบาททอดยาวตามถนนสายอังรีดูนังต์ เป็นเส้นทางที่คุ้นเคยสำหรับผู้คนย่านปทุมวัน ยามเปิดเทอมนักเรียนเดินกันขวักไขว่ ทำให้ฟุตบาทเล็กๆกลายเป็นย่านการค้าขนาดย่อม หาบเร่แผงลอยต่างๆตั้งวางบนพื้นเรียงรายรอเวลากระดิ่งเลิกเรียนของบรรดาลูกค้าตัวน้อย 

            ตะวันขึ้นกลางศีรษะ เหล่าพ่อค้าแม่ค้าพากันยกหาบตัวเองหลบแดดตามร่มไม้ ณ มุมมุมหนึ่ง ชายแก่ผอมเกร็งแต่งกายด้วยเสื้อสีมอๆ กำลังก้มหน้าก้มตาอ่านหนังสือพิมพ์รายวัน โดยไม่สนใจสิ่งรอบข้าง

      คุณลุงอ้วย ทาหาญ ยืนสู้แดดสู้ฝนบนโลกบูดเบี้ยวใบนี้มา 62 ฝน 62 ร้อน จากยุคที่โลกสู้กันด้วยอาวุธ กำลังทหาร สู่ยุคที่โลกสู้กันด้วยระบบเศรษฐกิจ ยามราคาข้าวหอมมะลิเหยียบขึ้นไปถึงกระสอบละ 2700 บาท ราคาไข่ไก่พุ่งสูงถึง ฟองละ 2.7 บาท ส่งผลกระทบต่อหาบขายไข่ปิ้งของคุณลุงอ้วย เช่นเดียวกับทุกๆคน

      ราคาไข่ปิ้งที่เคยขายฟองละ 5 บาทมายาวนานหลายสิบปี จำเป็นต้องขึ้นราคาเป็นฟองละ 6 บาท ให้พออยู่ได้

      “ก็ไม่ค่อยได้กำไรเท่าไหร่ นี่ถาดละ 88 นะหนู” ลุงอ้วยว่าพลางชี้ไปยังถาดไข่ที่วางซ้อนกันอยู่ 5-6 ถาด “ลุงมานั่งอยู่ตรงนี้ประมาณสัก 10โมง พอบ่ายสองก็ไปที่อื่น”

                 ทุกเช้าลุงอ้วยจะต้องตื่นมาตั้งแต่ตี 5 หาบออกมาจากบ้าน ไปรับไข่และข้าวเหนียวปิ้งจากแม่ค้าที่ผูกขาดไว้ประจำแล้วขึ้นรถประจำทางมานั่งขายหน้าคณะสัตวแพทย์ จุฬาฯ จนกระทั่งบ่ายสองจึงเดินไปขายแถวๆสยามแสควร์จนถึงเย็น

      ไข่ปิ้งของลุงอ้วยจะปิ้งบนเตาถ่านจนกระทั่งสุก กะเอาด้วยความชำนาญ แล้วอังไฟอ่อนๆให้อุ่นอยู่เสมอ กินกับน้ำซีอิ้วขาว ตราอสร. ที่แกซื้อมาจากห้างใหญ่ ด้วยเหตุผลว่ามันถูกกว่าซื้อตามร้านโชว์ห่วยตามท้องถนนเกือบสิบบาท

      “วันจันทร์ ลุงก็เสี่ยงมาขาย ถ้าเจ้านายเขามา เราก็ต้องหลบๆ เคยโดนจับไปที่เขต ก็ต้องจ่ายทีละร้อย ทีละร้อย เขาบอกอย่ามาขายที่นี่ แต่ลุงก็แอบมาอีกแหละ” เมื่อถูกถามถึงการติดสินบนเทศกิจ คุณลุงแอบกระซิบมาว่า “เราเป็นหาบเร่ ทีละน้อยเสียไปไม่คุ้มค่า อย่างเขา (ชี้ไปที่รถเข็นเฉ่าก๊วย) ก็จ่ายเป็นเดือน เดือนละพันกว่าบาท”

      ชีวิตในเมืองของลุงอ้วย อาศัยอยู่ในบ้านเช่าหลังเล็ก แถวประตูน้ำที่ลุงบอกว่าไม่สะดวกสบายนัก เหมือนสลัม แต่พออยู่ได้ด้วยค่าเช่ารายเดือนเดือนละพันเจ็ด พันแปด รวมค่าน้ำ-ไฟด้วยก็ประมาณ 2000 บาท รวมค่ารถอีกเดือนละ 200-300 บาทต่อเดือน 

      สาเหตุที่คุณลุงอ้วยมาหาบเร่ขายไข่ปิ้งทุกวันนี้ เพื่อหาเงินส่งลูกหลานให้ได้เรียน ได้รับการศึกษาที่ดี ลุงอ้วยเห็นความสำคัญของการศึกษาทีดีเป็นอย่างมาก แกพยายามส่งลูกให้เรียนสูงๆด้วยความหวังว่าลูกจะมีอนาคตที่ดี แกเอ่ยถึงลูกชายคนเล็กด้วยความภูมิใจว่า “ศึกษาอยู่ปีสุดท้ายอยู่ ม.ราชภัฏสวนสุนัน ปีที่ 4 ปีสุดท้ายแล้ว อยู่คณะบริหารธุรกิจคอมพิวเตอร์ เดี๋ยวพอเรียนจบ ลุงก็ไม่ขายแล้ว กลับไปพัก ให้ลูกหลานเขาเลี้ยงกันเอง ถ้าเขานึกได้ เขาก็เลี้ยงหลานๆกันเอง”

      ลุงอ้วยมีลูกทั้งหมด 4 คน คนโตเป็นหญิงสาวคนเดียว “ทำงานอยู่สนามม้า” คุณลุงชี้ไปที่ราชกีฑาสโมสร “เขาจบแค่ม.6 สมัยนั้นลุงยังหาตังค์ได้ไม่เยอะ” สีหน้าของลุงอ้วยหมองลง แววตาฉายความรู้สึกผิดที่ไม่สามารถส่งลูกสาวคนโตให้เรียนสูงๆอย่างน้องๆได้ ตัวแกเองจบประถมแล้วบวชเรียนจนจบเปรียญ 3 ตามความนิยมของคนในสมัยนั้น ทำให้แกเห็นโอกาสที่ดีกว่าของคนที่เรียนจบปริญญา

      “พ่อของลุงเป็นครู จบป.4 ขี่ม้าพาลุงไปโรงเรียน ไม่มีรถหรอก จักรยานพอมี หนทางเป็นป่าดงรกร้าง เดินทาง 16กิโล คนที่เรียนจบขนาดนั้น มีมานะมาก”

      เมื่อถูกถามถึงภรรยาคู่ชีวิต ลุงอ้วยเงียบไปสักพัก ดวงตาเหม่อลอยออกไปบนท้องถนนที่ยามนั้นว่างเปล่าเหมือนแววตาของแก ก่อนจะตอบเบาๆ “ตายแล้ว แกเสียซักไป 7-8ปีแล้ว”

      ก่อนจะเข้ามาดูแลลูกหลานในกรุงเทพ ลุงอ้วยเคยทำนาอยู่ที่จังหวัดสุรินทร์ อันเป็นจังหวัดบ้านเกิด แกมีที่นาเป็นของตัวเองหลายไร่ เดี๋ยวนี้ให้คนอื่นเช่าเสีย แล้วปันข้าวมากิน ทำให้ช่วงต้นปี ลุงอ้วยจึงมีข้าวกินฟรี ไปจนถึงกลางปี ประหยัดค่าข้าวได้แยะ

                “ทำนาตอนนี้มันไม่ได้เรื่อง ข้าวราคาดีก็จริง แต่ว่าไม่ทันพวกนายทุนหรอก หลักเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแค่ส่วนประกอบของรากฐาน ถ้าเราจะทำก็ทำได้ แต่ตอนนี้ลุงมาดูแลลูกหลาน ชี้นำเขาไปในทางที่ดี ชีวิตเรามีคุณค่า การศึกษามีค่าต่ออนาคต”

      เมื่อถูกขอให้เล่าถึงการทำนาสมัยก่อนแกก็เล่าให้ฟังสั้นๆว่า “ตะก่อนใช้ควายไถ หนูเกิดทีหลังไม่รู้หรอก เดี๋ยวนี้ใช้รถไถ หว่านไป เมื่อก่อนสารเคมีไม่ใช้ กินอะไรกันสดๆ ปุ๋ยเป๋ยยังไม่มี ธรรมชาติทั้งนั้น โรคภัยไข้เจ็บไม่มี เดี๋ยวนี้คนอายุสั้นลงเพราะสารอะไรมันเยอะ”

      ลุงอ้วยกล่าวว่าตัวเองโชคดีที่ร่างกายแข็งแรง ทุกๆวัน ไม่ค่อยเจ็บไข้อะไร ถึงป่วยกินยานิดหน่อยก็หาย ทั้งหมดนี้ แกยกให้เป็นสรรพคุณของยาขนานเอก คือการออกกำลังกายนั่นเอง

      ที่จังหวัดบ้านเกิด ลุงอ้วยเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านอยู่สมัยหนึ่ง ถือเป็นช่วงชีวิตที่แกภูมิใจ ตลอดการเป็นผู้ใหญ่บ้านแกคอยสอดส่องดูแลลูกบ้าน จัดสรรสิ่งต่างๆตามความเหมาะสม

      “สมัยเป็นผู้ใหญ่บ้านลุงเข้าวัดประจำเป็นประธานในพิธี มีงานเยอะ พอปี40 มีอบต.ก็แบ่งภาระไป เราก็จะไม่ดูแลงบประมาณแผ่นดิน ดูแลแค่การปกครอง ทุกข์สุขของพี่น้องเท่านั้นเอง” ลุงอ้วยตอบ ความภูมิใจฉาบอยู่บนใบหน้าเปื้อนยิ้ม 

      “อย่างเด็กโดดเรียน มีอยู่รายนึง แกชื่อป้านารี หลานแกโดดเรียนทุกวันอาจารย์แจ้งมาทางผู้ใหญ่ แกก็ไม่เชื่อ ว่าหลานแกไม่ไปโรงเรียน 2 อาทิตย์แล้ว แกก็ อู้ยย.... แล้วเขาก็จะช่วยกันทั้งหมู่บ้าน” ลุงอ้วยเล่า ด้วยเสียงเจือหัวเราะ เมื่อนึกถึงเหตุการณ์สมัยนั้น

       “สมัยก่อนก็อยู่ตามธรรมชาติ ปัญหาก็ไม่มี มีผู้ใหญ่คนเดียวปกครองกันไปก็จบแล้ว เดี๋ยวนี้ไม่ได้หรอก เด็กเสียก็เพราะรวมกลุ่ม พ่อแม่ให้เงินไปแล้วไม่สนใจ มันเป็นไปได้คนเรา บางคนเอาแต่การงานไม่สนใจลูก คนที่รับปัญหาต่างๆ จะต้องรู้จริง”

      นั่งคุยกันได้สักพัก คุณลุงก็เหลือบมองไปยังหนังสือพิมพ์บนหน้าตัก แล้วยื่นให้อ่านพาดหัวข่าวต่างๆ ลุงอ้วยอ่านหนังสือพิมพ์ทุกวัน แกบอกว่า เวลาเราไปคุยกับคนอื่นเขาเราจะได้ไม่โง่ รู้ทันข่าวสารบ้านเมือง แกก็ได้แต่ถอนหายใจกับปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น พลางบ่นให้ฟังถึงปัญหาต่างๆของคนสมัยนี้ ไม่ว่าจะเป็นติดยา เที่ยวกลางคืน ซิงมอเตอร์ไซด์

      แกเล่าว่ารัฐบาลแก้ไขปัญหาการศึกษา โดยการกระจายครูลงไปต่างจังหวด เปลี่ยนครูใหญ่ ที่เก่งๆลงไป ทว่าบางโรงเรียน เด็กป.4อ่านหนังสือออก เด็กป.5อ่านหนังสือไม่ออก นี่เป็นอีกหนึ่งปัญหาของการศึกษาไทย

      “คนสมัยนี้ก็ต้องสอนเขา น้ำดำๆกับน้ำขาวๆหนูจะเอาแก้วไหน ลองยกมือดูสิ” แกถามพลางหันไปพลิกไข่ปิ้งด้วยมืออันหยาบกร้านของคนทำงานหนัก

      เวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไป กาลเวลาทำให้ชีวิตของลุงอ้วยได้พบเจอกับคนหลากหลายรูปแบบ ผ่านความลำบากมามากมาย เมื่อมองย้อนกลับไป จึงเห็นความต่างของผู้คน วิถีชีวิตที่แปรเปลี่ยนตามโลกที่ไม่เคยหยุดหมุน ลุงอ้วยเปรียบเทียบชีวิตในเมืองหลวงกันต่างจังหวัดให้ฟังว่า

      “ชีวิตต่างกัน ในกรุงเทพลำบาก ไม่อิสระเหมือนบ้านนอก แต่พอหากินได้ ได้น้อย แต่ได้ทุกวัน บ้านนอกไม่มีงานทำ หมดคือหมดเลย” นี่คงเป็นเหตุผลของคนหลายๆคนที่หลั่งไหลจากต่างจังหวัดเข้าสู่เมืองหลวงแห่งนี้

      เมื่อถูกขอให้ฝากอะไรถึงคนอื่น ลุงอ้วยได้แต่ถอนใจแล้วนิ่งไปสักพัก

      “พูดยาก สอนยาก คนสมัยนี้ไม่รับเลยล่ะ คนดีน่ะส่วนน้อยคนไปทางเลว ออกนอกลู่นอกทางเยอะ ไม่มีใครบังคับมันไปของมันเอง นักเรียนเข้ากลุ่มดีก็ดีไป กลุ่มร้ายก็ร้าย นี่คือปัญหาของเดี๋ยวนี้”

      ก่อนจะกลับข้าพเจ้าได้ยกมือไหว้ลุงอ้วยอีกครั้ง ครั้งนี้มิใช่เพราะแกแก่กว่า แต่ด้วยเพราะข้าพเจ้าเกิดความนับถือแกอย่างญาติผู้ใหญ่คนหนึ่ง ชายแก่ผมขาว พร้อมด้วยรอยยิ้มอยู่ ริ้วรอยบนใบหน้า รวมถึงฝ่ามืออันหยาบกร้าน ทั้งหมดนี้ มิได้หมายถึงสังขารที่เสื่อมโทรมไปเพียงอย่างเดียว ทว่าเป็นเครื่องหมายของการฟันฝ่าสิ่งต่างๆที่ผ่านมา

                      “น้ำดำๆกับน้ำขาวๆหนูจะเอาแก้วไหน

                      คำถามสั้นๆของลุงอ้วยที่ทุกคนสามารถตอบได้ทันทีนั้น กลับสร้างคำถามต่อไปให้กับข้าพเจ้า “แล้วเหตุใดหลายคนจึงยังกินน้ำสีดำ”

      ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      ความคิดเห็น

      ×